Wednesday, January 1, 2020

เริ่มต้นกับความคิด พัฒนา JAVA Applications เพื่อใช้บน Android OS

เกริ่นนำสักหน่อย รากฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ คือ วิชาที่ว่าด้วยเรื่องฟิสิกส์ล้วนๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่เกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการค้นพบทาง ฟิสิกส์ ไม่มี ใน Blog นี้ผมจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกพัฒนาให้มีความสามารถหลายด้าน ทั้ง hardware และ software จนตามไม่ทันเลยทีเดียว  สิ่งที่ผมสนใจไม่ใช่การสื่อสารอย่างเดียว แต่สนใจเทคโนโลยีที่ปัจจุบันโทรศัพท์มือ (Smart Phone) มีศักยภาพเหมือนคอมพิวเตอร์ต่างหาก แต่ต่างตรงที่จะพกพาไปที่ไหนก็สะดวกสบายเพราะขนาดเล็กกระทัดรัด ผมจึงมีความคิดว่าถ้าเราจะพัฒนา apps. และอุปกรณ์ภายนอกที่ติดต่อกับ Smart Phone ได้ เราอาจสามารถเปลี่ยนเครื่องมือวิทยาศาสตร์บางอย่างที่มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในห้องปฏิบัติการ แปลเปลี่ยนมาเป็นอุปกรณ์กระทัดรัด พกพาไปในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลที่ไหนก็ได้ เรื่องอย่างนี้แหละที่ผมสนใจครับ  การเกิดขึ้นของ Blog นี้ก็เพื่อเหตุหลายประการดังนี้ครับ

- เสริมสร้างพื้นฐานความรู้ด้านฟิสิกส์และเชื่อมโยงกับเทคโนโนยีเพื่อการประยุกต์
- เพื่อบังคับตัวเองให้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมภาษา JAVA
- เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานด้าน Image Processing แต่เขียนโปรแกรมด้วย JAVA
- เพื่ิอสร้าง applications บนระบบปฏิบัติการ Android สำหรับประยุกต์ด้าน Mobile diagnosis based on
image processing for point of care detection

ดังนั้นในช่วงแรกคงจะเริ่มเตอะแตะไปทีละก้าว เรียนรู้จากชาวบ้าน (แต่ผมจะใส่อ้างอิงให้ครับ) เช่นเดิมผมจะเขียนบันทึกการทำงานแต่ในแต่ละครั้ง หากท่านใดเข้ามาเจอ ผมขอได้รับคำแนะนำด้วยครับ และหากสิ่งที่ผมทำเป็นประโยชน์กับท่าน ก็ยินดีครับ สำหรับคำแนะนำผมรบกวนเขียนใน comment ได้เลยครับ

Friday, July 25, 2014

Starting again with MIT App Inventor

หายไปนานมากครับ กับ การเริ่มต้น ---> ล้มเลิก วนไปมาแบบนี้หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากพื้นฐานโปรแกรมมิ่งไม่มีเลย เป็นเรื่องยากมากสำหรับผมที่จะพัฒนา Applications ด้วยภาษาจาวา ครับ แต่ที่มาเขียนอีกครั้งหนึ่งก็เพราะผมมีตัวช่วยแล้วครับ ===> MIT App Inventor  ซึ่งถือว่าง่ายกว่าการเขียนโดยตรงมากเลย การเขียนโดยใช้เครื่องมือดังกล่าวนี้ เป็นการจับวาง block คำสั่งต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกใช้ ขอให้ผู้พัฒนามีลำดับขั้นตอนทำงานของโปรแกรม หรือ อัลกรอลิธึม ให้ชัดเจนและเรียนการใช้งาน คุณสมบัติ ความสามารถของแต่ละ blocks เท่านี้ก็จะพัฒนา Applications ได้แล้วครับ ซึ่งผมเองก็จะต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เช่นกัน แต่ก็จะพายามทำให้เป็นมินิโปรเจก พอทำเสร็จจะได้เอาไปใช้งานได้เลยครับ

Wednesday, October 24, 2012

เครื่องมือพร้อม แต่คนไม่พร้อม 555

ผมตัดสินใจซื้อของสองชุดครับ ต้องจ่ายไปเกือบสามพันบาท

- อย่างแรกหนังสือครับ "Android App Development ฉบับสมบูรณ์" ของ อาจารย์ จักรชัย โสอินทร์ และคณะ แต่ก็พ่วงหนังสือ "Java ฉบับสมบูรณ์" มาด้วยเพราะผมไม่พื้นฐานโปรแกรมมิ่ง และ Java ก็ไม่เคยเรียน

คิดไปคิดมาเราก็ไม่ได้ชอบเขียนโปรแกรม มันน่าเบื่อไปหรือเปล่าถ้าจะเรียนแต่ Java เลยตัดสินใจสั่งซื้อของอีกอย่างครับ

- อย่างที่สอง IOIO-Q board จาก inex ครับ

IOIO-Q board "อ่านว่า โยโย่ บอร์ด" เอาไว้สำหรับติดต่อระหว่าง อุปกรณ์ที่เป็น android กับอุปกรณ์ภายนอกอย่างอื่น (external hardware) พูดง่ายๆ ก็คือ เราสามารถควบคุมอุปกรณ์ผ่านมือถือ Android ได้ผ่าน IOIO-board โปรแกรมที่จะสั่งการบนมือถือจะถูกพัฒนาขึ้นโดยภาษา Java ครับ

ตอนนี้ผมมีเครื่องมือเป็นที่พอใจแล้วครับ แต่ทว่าดูเหมือนช่วงนี้จะไม่มีเวลาให้กับเรื่องนี้มากนัก ดังนั้นในห้วงเวลานี้ blog คงเงียบเหงาสักหน่อย แต่หากผมพัฒนาอะไรได้จะเอามาเขียนบอกเล่าแล้วกันครับ

รูปข้างล่างนี้เป็นเครื่องมือที่ผมได้จัดเตรียมไว้ครับ หากท่านใดมีของเล่นแบบผม ก็เอาประสบการณ์มาแบ่งกันได้ครับ


ที่แน่ๆ ตอนนี้ผมยังติดต่อ IOIO-Q กับ Galaxy Mini ผ่าน Bluetooth ไม่ได้เลย หากทดสอบได้จะลองเอาภาพมาลงเพื่อเป็นประสบการณ์

คิดว่าหาต้นเหตุได้แล้วว่า ที่ติดต่อ IOIO-Q ผ่าน Bluetooth ไม่ได้เป็นเพราะโทรศัพท์ครับ ลองใช้โทรศัพท์เครื่องอื่นดู (Samsung Galaxy Ace 2) ผ่านฉลุยเลย

อย่างไรเสียก็ต้องหาวิธีแก้ให้จงได้ ผมใช้ Galaxy Mini และเป็น android 2.2.1 ก็คิดว่าเป็นเพราะเจ้า android เวอร์ชันต่ำไป เลยอัพเดทให้เป็นเวอร์ชัน 2.3.6 (สำหรับ Galaxy Mini การอัพเดท android ค่อนข้างง่ายครับ) แต่ก็ยังไม่ได้เหมือนเดิม มันมีปัญหาตั้งแต่ค้นหา Bluetooth dongle ไม่เจอเลยครับต้องใช้วิธีลอกเอา ซึ่งไม่เข้าท่าเอาเสียเลย (แต่ผมอาจทำพลาดบางขั้นตอน เดี๋ยวถ้าได้จะมาเขียนต่อ)